Meet the Academic >> หมวดการยศาสตร์และการปรับปรุงสภาพการทำงาน
เขียนโดย รศ.ปวีณา มีประดิษฐ์อาจารย์สาขาวิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยบูรพา
🏃 แนวทางการแก้ปัญหาทางกายรศาสตร์โดยการปรับปรุงสภาพการทำงานแบบใช้ต้นทุนน้อย แต่ลดความเสี่ยงได้ เป็นวิธีการที่ควรได้รับการพิจารณาในปัจจุบัน เนื่องจากสถานประกอบกิจการมักจะเข้าใจผิดว่าการแก้ปัญหาทางกายศาสตร์ต้องใช้งบประมาณมาก
🏃 สาระสังเขป
การแก้ไขปัญหาการยศาสตร์ โดยการปรับปรุงสภาพงานแบบผลไม้ใกล้มือ (Low-hanging Fruit) หมายถึง แนวคิดในการแก้ไขปัญหาการยศาสตร์ที่มีอยู่อย่างมากมายนั้น ให้เราสนใจปัญหาที่สามารถแก้ไขได้โดยเห็นผลทันทีและดำเนินการได้ง่ายกว่า นั่นคือแนวคิดของการเก็บผลไม้ใกล้มือ ซึ่งอยู่ต่ำกว่า แม้ว่าอาจจะไม่น่ารับประทานเท่ากับผลไม้ที่อยู่สูง ซึ่งเปรียบได้กับปัญหาที่อาจจะดูว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่กว่าจะปีนขึ้นไปเก็บได้อาจต้องใช้พลังงานและแรงกายไม่น้อย ซึ่งหมายถึงการใช้งบประมาณหรือลงทุนค่อนข้างมาก และในที่สุดบางครั้งอาจเอื้อมไปไม่ถึงเลยหรือยากที่จะประสบความสำเร็จด้วยซ้ำ
แนวคิดการเก็บผลไม้ใกล้มือนั้นคือ การทำให้คนทำงานมีความสามารถในการทำงานอย่างชาญฉลาด ไม่ใช่ทำงานแบบทุ่มเทอย่างหนักแต่อาจไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่หวัง (Work Smarter not Harder)
work hard หมายถึง การทุ่มเทในการทำงาน ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะเป็นที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ได้ ดังนั้นการที่คนทำงานจะแก้ไขปัญหาทางด้านการยศาสตร์สำหรับงานของตนเองได้อย่างชาญฉลาดแบบ work smart นั้น ต้องอาศัยองค์ความรู้ทางกายศาสตร์ ได้แก่ การใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงทางกายรศาสตร์ที่เหมาะกับงานของตนเอง การฝึกวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเหล่านั้น รวมถึงการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงด้านการยศาสตร์ และประเมินผลสำเร็จของการแก้ไขด้วยเครื่องมือประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมด้วยตนเอง จะเป็นการสร้างให้คนทำงานมีการทำงานโดยมีความคิดสร้างสรรค์ มีการวิเคราะห์และวางแผนการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้งานที่ออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถจัดงานที่มีปัญหาให้มีความเสี่ยงลดน้อยลง
ตัวอย่างของการสร้างให้คนทำงานสามารถเก็บผลไม้ใกล้มือได้ คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานทางกายรศาสตร์ให้แก่พนักงานเก็บขยะของเทศบาลเมืองแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เกี่ยวกับการชี้บ่งอันตรายด้านการยศาสตร์ ลักษณะ/ ท่าทางการทำงานที่เกี่ยวกับงานยก และตัวอย่างการปรับปรุงสถานีงาน รวมถึงหัวข้อที่จำเป็นในการปรับปรุง จำนวนรวม 8 ชั่วโมง และดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและกำหนดมาตรการแก้ไขและดำเนินการปรับปรุงสภาพงานใหม่ พบว่า พนักงานเก็บขยะสามารถปรับปรุงได้ทันที 2 ประเด็น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่รอการขออนุมัติจากผู้บริหาร คือ การปรับหูจับถังขยะโดยการใช้พลาสติกหุ้มเชือกที่เป็นหูจับถังขยะเพื่อลดการบาดเจ็บที่มือ และมีความมั่นคงในการยกเพิ่มมากขึ้น และการปรับระยะห่างระหว่างจุดจอดรถขยะกับจุดวางถังขยะ ดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 การเปรียบเทียบสภาพการทำงานก่อนและหลังการปรับปรุงสภาพการทำงาน
ผลการดำเนินการดังกล่าวพบว่า บริเวณจุดยก (Origin) พบว่า พนักงานส่วนใหญ่ไม่มีความเสี่ยงในการยกถังขยะ และมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และบริเวณจุดวาง (Destination) ถึงแม้ยังพบพนักงานส่วนใหญ่ยังมีความเสี่ยง แต่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น รวมถึงระดับความรู้สึกปวดบริเวณหลังส่วนล่าง หลังปรับปรุงสภาพงานมีค่าลดลงกว่าก่อนปรับปรุง
อย่างไรก็ตามการเก็บผลไม้ที่อยู่สูง ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่จำเป็นในเชิงของการแก้ไขปัญหาทางกายศาสตร์ซึ่งอาจเปรียบได้จากการเสนอแผนงานโครงการต่างๆ ที่ต้องรอนายจ้างอนุมัติ หรือรอระยะเวลาในการดำเนินการ รวมถึงการรอประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ต้องใช้ระยะเวลาในการติดตามประเมินโครงการ ด้วยแนวคิดนี้จึงมีคำแนะนำให้ในระหว่างการรอผลไม้ที่อยู่สูง เราก็สามารถเก็บผลไม้ที่อยู่ใกล้มือกว่าซึ่งมีผลประโยชน์ที่ไม่ต่างกันมากนัก แต่เห็นผลเร็วกว่า และลงทุนลงแรงน้อยกว่า ซึ่งอาจจะเข้ากับแนวคิดตามบริบทของนายจ้างในสถานประกอบกิจการได้อย่างลงตัว และสอดคล้องกับวิธีคิดตามยุคสมัยแบบ Quick Win ที่มุ่งให้เกิดการวิเคราะห์และมองหาวิธีการไขกุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหาอย่างได้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่วางอยู่ระหว่างทางและทยอยเก็บผลลัพธ์เหล่านั้นไปเรื่อย ๆ โดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญในการมุ่งไปยังปลายทางเพื่อเก็บผลไม้ที่อยู่บนยอดซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในแก้ไขปัญหาทางการยศาสตร์ให้หมดไปในอนาคต
*****************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น